บล็อกนี้น่าจะใช้ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลนานที่สุดนั่นก็คือ 2 ปี เก็บทุกสลิป จดทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ไป (แต่วันไหนเมาๆก็ลืมบ้างว่าแม่งจ่ายอะไรไปวะ จบที่หมวด ‘Others’ ฮ่าๆ) จริงๆอยากจะทำตั้งนานแล้วแต่ไม่มีเวลา (ข้ออ้างเดิมๆ) กับไม่กล้าทำ visualization กลัวตัวเองช็อกกับเงินที่ใช้ไป ฮืออออ
ความตั้งใจของการเขียนเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปตอนอายุ 25 ตอนนั้นเริ่มรู้ตัวแล้วว่าต้องเรียน MBA ถึงจะจูนความฝันที่จะเป็นเรียนต่อต่างประเทศกับเส้นทางอาชีพเข้าด้วยกันได้ รู้ว่ามันแพงมากแต่ก็ไม่รู้ว่าขนาดไหน ต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ถึงจะไปได้ แล้วประหยัดอะไรได้ไหม พยายามหาข้อมูลแต่ก็ไม่ค่อยเจอแบบละเอียด ส่วนใหญ่คือเจอแต่ค่าเทอมที่เป็นข้อมูลสาธารณะอยู่แล้ว เวลาคุยกับคนที่เรียนอยู่ก็ได้ตัวเลขกลมๆมา ไม่มีใครมานั่งวิเคราะห์ให้ ตอนเรียนก็กลัวตังไม่พอนะ นั่ง track ทุกเดือนว่ากูยังไหวป่าวว้า จบออกมาก็ถูกถามเรื่องนี้เยอะอยู่ เอาอย่างนี้ละกัน วันนี้เอาแบบละเอียดไปเลย จะได้เตรียมหยอดกระปุกกันถูก
DISCLAIMER: ขอใส่ disclaimer นิ้ดดดดนึงเดี๋ยวทัวร์ลง ไม่ได้มีเจตนาอวดรวยแต่อย่างใดจริงๆ (เพราะกูโคตรจน) ถ้าใครเคยอ่านเรื่องในบล็อกมาบ้างจะรู้ว่าฉันมาจาก lower middle class แล้วก็ต้องใช้เวลาเก็บเงินไปเรียนเอง ถ้าเทียบกับคนไทยด้วยกันคือไปเรียนตอนแก่แล้ว (เป็นปูชนียบุคคลของรุ่นเลยก็ว่าได้) ด้วยจังหวะที่ดี มีเพื่อนที่ดี เลยทำให้ฉันได้โอกาสไปเรียน แล้วที่มาเขียนเล่าเป็นเพราะฉันมี passion เรื่อง upward mobility (การที่ประชากรสามารถข้ามไปสู่ social economic class ที่สูงขึ้น) เรื่องหลายๆเรื่องที่เขียนเพราะอยากให้คนที่มาอ่านเห็นว่า เอ้ย ถ้าเจนมันทำได้ ฉันก็ต้องทำได้เหมือนกัน งั้นไม่ต้องท้อนะ สู้!
CONTEXT: MBA ที่ฉันไปเรียนคือที่ Kellogg School of Management อยู่ที่อเมริการัฐ Illinois โปรแกรมแบบสองปี ณ ตอนที่ไปอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ดอลลาร์ละ 31.5 บาท ดังนั้นถ้าเพื่อนๆดูอยู่โรงเรียนอื่น อยู่ประเทศอื่น โปรแกรมรูปแบบอื่น อาจจะมีความต่างด้านค่าเทอมค่าครองชีพ เดี๋ยวเราไปพูดกันในรายละเอียดอีกที
OVERALL: มาถึงความจริงอันโหดร้าย การมาเรียน MBA แบบ 2 ปีใช้เงินทั้งสิ้น 7.6 ล้านบาท (นี่คือรวมหมดแล้วนะตั้งแต่ค่าวีซ่า ตั๋วเครื่องบินมาอเมริกา ค่าเทอม ค่ากินอยู่) ที่แยกไว้คือพอดีฉันได้ทุนค่าเทอมจากโรงเรียน ที่จ่ายจริงๆคือ 4.8 ล้านบาท (เข่าทรุด) ตอนเทอมสุดท้ายนี่คือลุ้นขี้ปิ๊ดว่าเงินจะพอไหม ต้องเริ่มทำงานเร็วเพราะว่าอีกนิดนึงต้องไปเป็น homeless แล้ว (พักสองอาทิตย์คือเริ่มเลย เพื่อนถึงกับงงว่าเมิงรีบไปไหน เอาจริงฉันทำงานมาจะห้าเดือนแล้วเพื่อนบางคนมันยังเที่ยวอยู่เลยเนี่ย)
ฉันแยกค่าใช้จ่ายเป็น 5 หมวดนะ ประกอบด้วย
- Education หลักๆก็ค่าเทอมนี่แหละ ในอเมริกา โรงเรียนที่เคลมว่าเป็น Top Business School จะอยู่ราวๆ $70,000++ หรือประมาณ 2.5 ล้านบาท ต่อปี สองปีก็พอดี 5 ล้านบาท บ้านเดี่ยวหนึ่งหลัง
- Housing ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ตามมาเป็นอันดับสอง สองปีอยู่ที่ 1.1 ล้านบาท อันนี้คือแบบถูกสุดในการอยู่คนเดียวแล้วนะ เป็น Studio ในตึกเก่าๆ แต่เมืองที่อยู่มันเป็นเมืองผู้ดีอ่ะ อารมณ์เมืองคนขาวส่งลูกเรียนโรงเรียนเอกชน ค่าอพาร์ทเม้นแพงพอๆกับใจกลางเมืองใหญ่อย่าง Chicago ที่อยู่ติดกัน
- Travel & Activity โฮก 7.5 แสน มา MBA ก็แน่อยู่แล้วว่าไม่ค่อยเรียน เน้นปาร์ตี้กับเที่ยว (แม่จะแวะมาอ่านป้ะเนี่ยยย) ถ้าจะประหยัดคือตรงนี้แหละ ถ้าฉันให้คะแนนตัวเอง จาก 0 คือโคตรประหยัด ถึง 10 คือโครตฟุ่มเฟื่อย น่าจะอยู่ประมาณ 3-4 กลางๆค่อนมาทางประหยัด จะเริ่มใช้เงินตอนเรียนปีสองผ่านการได้เงินจากฝึกงานมาต่อชีวิตแล้ว เพื่อนที่ไม่ค่อยปาร์ตี้ ไม่ค่อยไปไหน ประหยัดแบบสุดก็มี เพื่อนที่ไปทุกทริป ทุกงาน ประหนึ่งบ้านอยู่โรงกษาปณ์ก็มี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเงินของแต่ละคน
- Food & Supplies ใช้ไป 6.8 แสน ในการกินและช็อปปิ้งเสื้อผ้าของใช้ ซึ่งถือค่าใช้จ่ายฉันเป็น baseline ได้เลยเพราะฉันโคตรประหยัด ทำอาหารไม่เป็นก็ดันทุรังทำกินเองตลอดแถมทำให้เพื่อนกินหารายได้เข้ากระเป๋าด้วย น้อยมากที่จะออกไปกินข้างนอก พวกซื้อของส่วนใหญ่ก็เท่าที่จำเป็นจริงๆ function over fashion
- Others ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ (เบ็ดเตล็ดอะไรวะปาไป 3 แสน) พวกค่าวีซ่า ค่าเดินทาง ค่า subscription ต่างๆ ที่แพงที่สุดก็คือค่าประกันสุขภาพที่นักเรียนต่างชาติทุกคนต้องจ่าย (ปีละแสนสามเองงง เคลมอะไรก็ไม่ได้ โคตรเซ็ง)
อันนี้น้ำจิ้ม เดี๋ยวมาเจาะกันว่าฉันเอาเงินเก็บจากการทำงาน 7 ปีมาละลายกับอะไรบ้าง เอาจริง เขียนไปคือใจหายไป ได้แต่ปลอบใจตัวเองว่าความรู้ที่เราได้มันไม่สามารถประเมินค่าได้ (แต่คือเมิงไม่เรียนไงไอเจน)
EDUCATION: หมวด Education ประกอบไปด้วยค่าเทอม ค่าหนังสือ (ซึ่งทำไมมันไม่รวมไปกับค่าเทอมมิทราบ) ค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวไปเรียน
ค่าเทอมเนี่ยจะแบ่งจ่ายเป็น 6 เทอม เทอมละ 7.8 แสนบาท (ที่นี่เรียนกันว่า Quarter ปีหนึ่งเรียน Fall, Winter, Spring แล้วปิดเทอมตอน Summer) ที่น่าหมั่นไส้ที่สุดก็คือ ตอนที่ติดโรงเรียนจะให้ Deposit $2,000 หรือประมาณ 7 หมื่นบาท (แล้วแต่โรงเรียนนะ แต่ส่วนใหญ่คือเท่านี้) กรณีคนติดหลายที่ก็ต้องเลือกจ่าย deposit เพื่อยืนยันว่าเราจะไปเรียนที่นี่จริงๆ เค้าจะได้เก็บที่นั่งไว้ให้ ตอนนั้นเข้าใจว่า deposit เดี๋ยวต้องเอาไปโปะกับค่าเรียนใช่มะ นี่ไม่เว้ยยยย เก็บเพิ่มจ้า เป็นเรื่องเดียวที่ไม่เกี่ยวกัน เพิ่งมาเจอตอนเขียนบล็อกนี่แหละ โมโห!
ในหมวดย่อย Preparation หรือรายจ่ายก่อนไปของฉันประกอบด้วย ค่าวีซ่า 1 หมื่นบาท ค่าฉีดวัคซีน 1.2 หมื่นบาท และค่าตั๋วเครื่องบินขาเดียวจากไทยมาอเมริกาอีก 3 หมื่นบาท
หนังสือเรียนมันเป็นแบบดิจิตอลอ่ะคือจับก๊กหารกับเพื่อนเอานะ (งกขนาดนี้ไม่มีซื้อมาอ่านคนเดียว) ตอนแรกหากลุ่มลำบากมากเพราะไม่รู้จักใคร หลังๆนี่รวมกลุ่มเองเลย เผลอๆได้กำไรอีกตั้งหาก แต่ถ้าไปลงวิชาแปลกๆไม่มีคนรู้จักก็แบกรับค่าหนังสือไป เซ็งเห็ด
HOUSING: ค่าอพาร์ทเมนท์ตกเดือนล่ะ 4 หมื่นต่อเดือน แต่ก่อนอยู่สาทรจ่ายอยู่ 4 พัน (น้ำตาตก) ตามที่พรรณนาไว้ด้านบน เป็นห้อง studio หมายถึงไม่มีห้องนอนแยก (แต่ก็ยังจัดปาร์ตี้ได้อยู่ดี ฮ่าๆ) ที่ดีคือมีครัวไว้ทำอาหาร แต่ทอดปลาสลิดไม่ได้นะ หอมยันที่นอน เสื้อผ้ากันเลย ขอบ่นหน่อย ตอนนั้นว่าแพงแล้วตอนนี้มาอยู่ California คือแพงกว่าเท่าตัว จ่ายค่าอพาร์ทเมนท์ทีตัวเบาหวิวเลย เดี๋ยวไว้เขียนแยกอีกบล็อกนึง อ่อ security deposit เค้าคืนให้ตอนออกนะ แต่ฉันโดนหัก late fee บานเลย (เดือนละ 700 บาท เลทไป 5-6 เดือนอ่ะ ปลง)
ค่าเฟอร์เหมือนจะแพงแต่คือโคตรถูกแล้วเพราะซื้อยกเซ็ตต่อมาจากคนเช่าเก่า ที่นอน โซฟา จาน ชาม หม้อหุงข้าว พร้อมอยู่ แค่มันจะเก่ามากๆๆๆ ที่นอนที่คือยวบมากกกก ปวดหลังจนฝังใจ ตอนย้ายออกก็ขายยกเซ็ตให้คนที่มาเช่าต่อแต่ลดราคาให้เค้า $100 เพราะเปิดบ้านปาร์ตี้แล้วเพื่อนๆพากันกระโดดบนเตียงจนเตียงหัก (สาบานว่าพวกนี้วัยยี่สิบปลายกันแล้ว) ตอนแรกก็คิดว่าแพงนะ แต่พอย้ายมา California ต้องซื้อใหม่เองนี่คือเกือบ 2 แสน เลยตระหนักรู้ได้ว่า ราคานี้ ถูกโคตรๆ
ที่เหลือก็พวกค่าไฟ(น้ำฟรี) โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต ใน pie chart เป็นรวมสองปี ส่วนด้านขวามือคือสรุปรายเดือนจ้า
TRAVEL & ACTIVITY: สำหรับหมวดนี้นิยาม Travel หรือว่าการท่องเที่ยวของฉันคือต้องมีการค้างคืนที่อื่นที่นอกเหนือจากอพาร์ทเม้นท์ของตัวเอง ส่วน Activity หรือกิจกรรมเป็นอารมณ์ไปเช้าเย็นกลับ ใช้เวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง
หมวดนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ขึ้นกับสถานการณ์และจุดมุ่งหมายในการมา MBA ของแต่ละคนมากที่สุด เด็กทุนจาก consulting firm บางคนคือมาพัก มีเงิน ก็เที่ยวมากหน่อย บางคนมีครอบครัวมาด้วยหรือมามีลูกที่นี่ก็จะไม่ค่อยได้เข้าร่วมกิจกรรม บางคนอยากประหยัดก็ไม่ค่อยเที่ยวหรือหาทริปที่ไม่ค่อยแพงมากไป ปีฉันแจ๊คพ็อตว่าเจอโควิดด้วยเลยไม่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศกันเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายก็จะถูกลงด้วย ทำแบบแจกแจงรายละเอียดให้ดู min, max, average แต่ละทริปมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักพันถึงหลักแสน ที่แพงๆส่วนใหญ่ก็จะไปทริปสกี หรือทริปของโรงเรียน ที่แพงสุดคือไปทริปของโรงเรียนที่เรียกว่า KWEST โดยฉันเลือกไป Alaska เอาจริงไปเองอาจจะถูกกว่าสองสามเท่าแต่ประสบการณ์ที่ได้ก็ต่างกัน ทริปถูกส่วนใหญ่คือทริปแถวเมืองที่อยู่ ขับรถไป ไม่มีค่าเครื่องบิน
ด้านกิจกรรมก็มีตั้งแต่ชมรมจัดกันเองหรือของโรงเรียน (เวลาบอกว่าของโรงเรียนคือมีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นนักเรียนมาจัดทริป/กิจกรรมอยู่ดี และมีนักเรียนทั้งโรงเรียนเข้าร่วม คือเป็นพันคน) ค่าใช้จ่ายมีตั้งแต่หลักร้อย (คือไปดูหนังเรื่อง Jumanji ภาคสองกับเพื่อน) ไปจนถึงครึ่งหมื่น ที่แพงสุดในลิสต์คือไป Boat Day อารมณ์ในมิวสิควีดีโออ่ะ คนมีสตางค์ใส่เสื้อขาวเต้นบนเรือยอร์ชส่วนตัว เมืองที่อยู่มันติดทะเลสาบไงเลยจัดกันบ่อย เอาจริงแม่งโคตรร้อน โคตรโคลงเคลง ลงท้ายเมาเหมือนกับกินบนบก ต้องหาทางกลับบ้านอีก แต่ก็นะ ต้องไปให้รู้ว่าเป็นยังไง ส่วนที่เห็นติดลบนั้นเนื่องจากอันนี้ฉันเป็นคนจัดเอง เช่าอุปกรณ์ ซื้อเหล้า หาสถานที่ ขายตั๋ว ไปๆมาๆกำไร ไม่ได้ตั้งใจจริงๆ อิ
FOOD & SUPPLIES: อย่างที่บอก หมวดนี้ฉันคือเจ้าแม่แห่งความงก ถ้าไม่ยุ่งหรือไม่แฮงค์ถึงที่สุดจริงๆก็จะทำกับข้าวกินเอง นอกจากอยากกินหมูย่างเกาหลีมากๆค่อยชักชวนเพื่อนไป ส่วนค่าช็อปปิ้งส่วนใหญ่หมดไปกับการซื้อเสื้อกันหนาว รองเท้าบู้ท ผ้าพันคอ (แม่งหนาวจริง ลมก็แรง ตอนแรกคือชะล่าใจ หิมะตกทีเดียวคือโคตรหนาว ติดลบสิบยี่สิบองศาเงี้ย นั่งรถไปซื้อเสื้อโค้ทแทบไม่ทัน) ชุดคอสเพลย์ที่ต้องใส่ไปงานกิจกรรมต่างๆ (ใครจะมา Kellogg แนะนำขนมาจากไทยเถอะ ซื้อที่นี่คือโคตรแพง) อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ต่างๆที่จำเป็นต่อการเรียนเช่น แทบเล็ต คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
OTHERS: สืบเนื่องจากหมวดที่แล้วที่บอกว่าทำอาหารเองเป็นหลัก ทั้งที่ก็ทำไม่ค่อยเป็นอ่ะนะ แบบไหนๆก็ไหนๆแล้วจัดปาร์ตี้ Thai Dinner มันเลยแล้วก็เก็บเงินคนละ $10 ไรเงี้ย ที่เห็น Venmo Offset ก็คือที่อเมริการะบบแบงค์กิ้งมันห่วย โอนข้ามแบงค์ยาก เค้าใช้แอปที่ชื่อ Venmo โอนตังค์ให้กัน สรุปว่าที่ทำๆไปได้มาประมาณสามหมื่นบาท (ไปเรียนหรือขายข้าวแกงมิทราบ)
ที่เหลือก็จะเป็นพวกค่าทำวีซ่า ค่าโอนเงิน ค่าเดินทางเวลาเข้าเมืองไปทำกิจกรรมหรือไปซื้อกับข้าว subscription ต่างๆตั้งแต่มีสาระยันโคตรไร้สาระ และที่แพงสุดๆก็คือค่าประกันชีวิต จ่ายปีละเป็นแสน แทบไม่ได้ใช้อะไรเลยเพราะมันจุกจิก บางทีไปหาหมอต้องเสียเงินเพิ่มอีก จะบ้าตาย พอตอนโควิดโรงเรียนก็บังคับให้นักเรียนตรวจโควิดกัน ฉันคือไม่ต้องบังคับ ไปตรวจอาทิตย์ละสองครั้ง ใช้ประกันให้คุ้มที่สุดแม้จะแลกกับความจมูกพรุนก็ตาม!
สุดท้ายอยากจะ visualize การใช้เงินแต่ละเดือน color code ตามหมวดหมู่ต่างๆ เผื่อใครอยากรู้ว่าเดือนๆนึงใช้อะไรเท่าไหร่ เดือนที่พุ่งๆก็คือถึงเวลาจ่ายค่าเทอมแล้วนั่นเอง สำหรับใครที่เงินตั้งต้นไม่พอ (เหมือนฉัน) ช่วง summer ขึ้นปีสองจะมีโอกาสได้เงินเพิ่มจากการฝึกงาน (เยอะอยู่เพราะเค้าจ่ายเกือบเท่าทำงาน full-time) ไม่งั้นก็ขอกู้โรงเรียนได้ในเทอมที่มันฝืดเคืองจริงๆ
อยากทิ้งท้ายไว้ว่า ไม่อยากให้ท้อเพราะเห็นจำนวนเงินที่ต้องจ่าย ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ไปเรียน MBA จะมีเงิน แค่ต้องวางแผนการใช้เงิน แหล่งที่มาของเงินรัดกุมกว่าคนส่วนใหญ่ ถ้าไม่อยากเครียดมากเรื่องนี้ ให้ขอทุนเต็มบริษัท ทุนแบงค์มา ส่วนคนที่ไม่ได้ทุนแบบฉัน (ยังดีที่ได้จากโรงเรียนบ้าง ไม่งั้นนี่กู้สถานเดียว) ก็ต้องระวังมากขึ้น ประเมินค่าใช้จ่ายบ่อยๆว่าใช้แค่ไหนถึงจะอยู่ได้ บางกิจกรรมที่มันแพงเกินไปบางครั้งก็ต้องตัดใจหรือหาหนทางที่ประหยัดขึ้น ถ้ามันเป็นความฝันแล้วคิดว่าเรียน MBA มันคุ้มก็ต้องลุยนะ เป็นกำลังใจให้
แต่ว่า ตกลง MBA มันคุ้มไหม… รอไว้มาเขียนน้าาาา
ยังติดตามอยู่ จะรอจนรีวิวการทำงานหลังจบที่นั่น vs กลับมาที่ไทยรายได้ ความคุ้มค่า จุดคุ้มทุน
เชื่อว่าเจนทำได้ และเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จแน่นอน
ขอบคุณที่แชร์นะ รออยู่น้าาาา
ขอบคุณน้าาา เข้ามาอ่านตลอดเลย
รออ่านอยู่นะคะ

ติดตามตลอดเลย สุดท้ายเลือกรับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแทน เพราะอเมริกา ไม่มีตังค์จริงๆ
รบกวนขอ email ติดต่อได้ไหมครับ ว่าจะสมัครทุนรัฐบาลญี่ปุ่น MBA ปีนี้เหมือนกัน หรือ ติดต่อมาที่เมลผลได้ครับ tommy20001234@gmail.com
ถามมาที่เพจได้ค่ะ