GMAT ข้อสอบที่ใช้ความพยายามอย่างเดียว อาจไม่พอ…

แรกๆจะเป็นการปูพื้นฐานให้คนไม่รู้จัก GMAT ค่ะ ใครเชี่ยวชาญหรือกำลังทรมานอยู่เชิญ scroll down ไปหาสาระได้ที่สองหัวข้อสุดท้ายเลยจ้า

GMAT คืออะไร?

GMAT ย่อมาจาก Graduate Management Admission Test เป็นข้อสอบที่ผู้ที่จะไปเรียนต่อ MBA (Master of Business Administration) หรือปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจที่ต่างประเทศ ต้องสอบกันทุกคน (มหาวิทยาลัยในไทยจะใช้ข้อสอบต่างหาก เช่น CU-BEST ของจุฬาลงกรณ์) ถึงแม้จะเป็นแค่หนึ่งในส่วนประกอบของการสมัครเข้าเรียน MBA (นอกจากนี้ยังมี TOEFL/IELTS, resume, essay, recommendation letter ฯลฯ) แต่เหล่าผู้ที่ประสงค์จะเรียน MBA ก็ยอมรับโดยทั่วกันว่าอี GMAT นี่แหละ ‘หฤหรรษ์’ สุด

ข้อสอบที่ถูกสรรค์สร้างมาเพื่อทรมานใจคนจะไปเรียน MBA

เรื่องสยองสามพยางค์ที่เหล่าผู้ที่จะสมัครเรียน MBA (นับจากนี้ขอเรียกว่า MBA candidate) จะต้องเจอ คือคำถามว่า ได้คะแนน GMAT เท่าไหร่? บางทีก็อยากจะหันไปร้องไห้ใส่หน้าแม่งเลย ถามมาได้ทำร้ายจิตใจอันบอบบางมาก มันปานนั้น? ปานนั้นจริงๆ GMAT ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นข้อสอบมาตรฐานที่ใช้วัดความรู้ความสามารถของผู้สมัครเรียน MBA จากทั่วโลก เพราะถ้าไม่มีข้อสอบกลางก็ยากที่จะรู้ว่าเด็กอินเดียจากมหาลัย A ได้ GPA 3.85 เก่งกว่าเด็กจากไทยจากมหาลัย B ที่ได้ GPA 3.50 หรือเปล่า ที่ต้องยากปานฉะนี้เพราะต้องวัดหลายอย่าง (แต่จริงๆมันอาจจะเป็นความสะใจของคนออกข้อสอบกะดร้ายย) เดี๊ยนจะขอเริ่มจาระไนความบ้าคลั่งของข้อสอบนี้ด้วยการอธิบายโครงสร้างของ GMAT

ข้อสอบของ GMAT มี 4 ส่วนหลัก 1.Quantitative 2.Verbal 3.Integrated Reasoning (IR) 4.Analytical Writing Assessment (AWA) โดยสองส่วนแรกจะสำคัญที่สุดเพราะเป็นตัวชี้วัดคะแนนรวม ส่วนสองส่วนหลังติดปลายนวมไปให้มหาลัยเค้าดูชิวๆว่า logic พอได้ไหม เขียนเป็นภาษาคนหรือเปล่า

1. Quantitative (75 นาที 37 ข้อ)

Section นี้อธิบายง่ายๆคือ สอบเลขจ้า เลขมอปลายด้วยนะ แบบใครเคยสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเมืองไทยมาแล้วต้องเคยสัมผัสมาทั้งนั้น percent, ratio, geometry, probability, statistic อะไรเทือกนี้ ทุกคนก็จะบอกว่า โอ้ยยยย แกจบวิศวะมาแล้วมันจะยากตรงไหน… ยากสิโว้ย โคตรยาก เพราะนอกจากจะมีข้อสอบปกติที่พวกเราเคยเห็นกันหรือ Problem Solving (PS) แล้ว GMAT จะมีข้อสอบอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Data Sufficiency (DS) ด้วย เพื่อความง่ายต่อการอธิบาย ข้อยกตัวอย่าง

If x is a positive integer, then is x prime?
(1) 3x + 1 is prime
(2) 5x + 1 is prime

โจทย์บอกว่า x เป็น positive integer แล้ว x เป็นจำนวนเฉพาะหรือไม่ แล้วให้ข้อมูลมาสองข้อ หน้าที่เราคือต้องบอกว่า ถ้าจะหาคำตอบจากข้อมูลที่ให้มา ข้อแรกอย่างเดียวเท่านั้นที่เพียงพอ ข้อสองอย่างเดียวเท่านั้นที่เพียงพอ สองข้อรวมกันถึงจะเพียงพอ ข้อแรกกับข้อสองต่างคนต่างเพียงพอ หรือสองข้อรวมกันก็หาไม่ได้… ฆ่ากุเถอะ

แรงบันดาลใจของการออกข้อสอบแบบนี้คือ คนที่จะเข้า MBA ได้คือผู้มีคุณสมบัติของการเป็น manager ไง คือเมิงจะไม่หาคำตอบเองแล้วไง แต่ไปสั่งน้องในทีมแทน ซึ่งต้องรู้จากข้อมูลที่มีอยู่ว่าจะหาคำตอบได้หรือไม่ได้ ค่อยไปสั่งคนอื่นเค้าให้ทำแทน เออ ก็จริงของมัน แต่กุเกือบตาย

ความยากอีกอย่างของ section นี้คือ GMAT เล่นที่ความรอบคอบ (ซึ่งนู๋ไม่มี T^T) ไหวพริบปฏิภาณซะส่วนใหญ่ เช่น

If r and s are positive integers such that (2^r)(4^s) = 16, then 2r + s =?
(A) 2 
(B) 3 
(C) 4 
(D) 5
(E) 6

[ข้อนี้ตอบ (D) 5 เพราะมีกรณีเดียวที่ทำให้ (2^r)(4^s) = 16 โดยที่ r และ s เป็น positive integers นั่งคือ r=2 และ s=1 (โดยที่ 0 ไม่ใช่ positive integer)]

สรุปว่ารู้ทฤษฎีเพียงผิวเผืนเหมือนตอนมัธยมไม่ได้แล้ว ต้องทำให้มันเข้าไปอยู่ในหัวใจ แบบกรีดแขนแล้วเลือดไหลออกมาเป็นทฤษฎีจำนวนจริง ต้องเป็นคนขี้ระแวง คิดว่าข้อสอบจะหลอกตลอดเวลา พอเหมือนจะจับได้แล้วก็ระแวงอีกว่าหรือกุคิดมากไป สรุปว่า บ้า พูดคนเดียวในห้องสอบ 555

2. Verbal (75 นาที 41 ข้อ)

จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ Reading Comprehension (RC), Critical Reasoning (CR) และ Sentence Correction (SC) ผลัดกันโยนเข้ามาให้สมองที่มึนอยู่แล้วงงเข้าไปใหญ่ จะขอชำแหละเป็นส่วนๆให้เห็นภาพ

– Reading Comprehension (RC) คือ อ่านบทความแล้วตอบคำถาม ซิมเปิลมากเบย จริงหรือ? ส่วนนี้ถือว่ายากที่สุด ทุกคนกลัวที่สุด พัฒนาได้ยากสุด และขึ้นอยู่กับดวงที่สุด เวลาไปสอบนี่ให้ไหว้พระให้หมดบ้าน เลือกก้าวเท้าออกจากบ้านดีๆ เพราะถ้าเกิดดวงซวยขึ้นมา คุณจะได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับข้อบทกฎหมายของการให้กรรมสิทธิ์การใช้น้ำแก่อินเดียนแดงยาวประมาณ 400-600 คำ พร้อมชุดคำถามสุดยากและทั้งหมดต้องทำภายในเวลาไม่ถึง 8 นาที บทความทั้งหมดถูกออกแบบมาแล้วให้อ่านแล้ว ‘งง’ ถ้ายังเจ๋งอยู่ อ่านแล้วรู้เรื่อง เดี๋ยวเจอคำถามแล้วก็งงเอง ยังกับอยู่ในหนังอินเซ็ปชั่น inference ซ้อน inference ซ้อน negate เช่น not infrequently คือบางทีต้องทดในกระดาษว่าตกลงความหมายเป็นลบหรือบวก รู้เรื่องแค่ 2 ใน 3 paragraph ก็ไม่ได้ บางที่อ่านพลาดไปหนึ่งประโยคก็ไม่รู้เรื่องแล้ว บางทีทุกคำแปลออกหมดแต่พอแม่งประกอบเป็นประโยคแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง หลับตาไว้อาลัย 3 วิ

– Critical Reasoning (CR) เป็นการทดสอบการใช้เหตุผล บางทีให้หาข้อสนับสนุน หาข้อขัดแย้ง หาข้อสรุป ไปเรื่อย อันนี้ไม่ยากมาก แค่ต้องอ่านให้เร็ว (โจทย์มาก็เหมือนอ่าน RC ไป paragraph หนึ่งแล้วไม่รวม choice) และบางทีแอบกวนทีน เช่น สมมติเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ว่ารถที่ใช้อุปกรณ์เตือนไม่ให้ขับรถเร็วดันโดน ticket เพราะขับรถเร็วเยอะ เลยสรุปว่าคนที่ติดไอ้เครื่องนี่ต้องขับรถเร็วเป็นประจำ แล้วถามว่าการสรุปแบบนี้มีสมมติฐานมาจากอะไร ไอ้เราก็ concentrate ไปที่อุปกรณ์ที่ว่านี้แล้วไง แต่หวยดันไปออกเรื่องที่ว่า จะสรุปแบบนี้ได้ต้องมีสมมติฐานมาจาก คนที่โดน ticket เพราะขับรถเร็วต้องขับรถเร็วเป็นประจำ อ้าว เครื่องจับความเร็วกุอ้ะ อีบร้าาาาา

– Sentence Correction (SC) โหย ตอนแรกนึกว่าหวานหมู เพราะแกรมม่าเป็นสกิลที่เดี๊ยนมั่นใจกว่าอะไรทั้งหมด แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นส่วนที่บั่นทอนจิตใจสูงสุด เพราะ GMAT จะมี preference ของแกรมม่าของนาง เช่น ถ้ามี with, being, having been นางจะไม่ชอบ โอ้ย awkward, wordy, unidiomatic แต่บางทีพวกนี้มันก็ถูกไง เพราะกฎของ GMAT ในส่วนนี้คือ หาข้อที่ดีที่สุด อาจจะถูกแกรมม่าหลายข้อ แต่ข้อนี้ elegant สุด หรืออาจจะผิดนิดๆหน่อยๆแต่โอสุดไรงี้ บางทีอันนี้เยิ้นเย้อแต่อนุโลมได้ คล้ายความรักที่เหมือนจะเข้าใจ แต่ก็ไม่เข้าใจ #ออกทะเล

3. Integrated Reasoning (IR) (30 นาที 12 ข้อ)

section น้องใหม่นี้แอบยากมาก ให้เวลามา 30 นาที มีอยู่ 12 ข้อ แต่ละข้อโหดสัดเลือดสาด แม่งมีทั้งกราฟ ทั้ง text ให้คิดเลข เรียงข้อมูล วุ่นวาย อยู่ในข้อเดียวกัน ต้นตอมาจากมหาลัยทั้งหลายอยากจะวัดสกิลการประมวลผลข้อมูลทุกแบบทุกอย่างในโลกนี้ (ที่ผ่านมาเมิงยังวัดไม่พอรึ) เนื่องจากไม่ได้เอามาคิดคะแนนจริงๆแต่ก็ต้องทำให้ไม่น่าเกลียด section นี้เลยทำชิลๆไม่ต้องอ่านต้องพยายามกันมาก เน้นหาให้ได้ว่าตัวเราถนัดข้อแบบไหน แล้วมั่วข้อที่ไม่ถนัดไปซะ (เพราะเทพเท่านั้นที่ทำทุกข้อทันใน 30 นาที)

4. Analytical Writing Assessment (AWA) (30 นาที 1 บทความ)

section นี้ writing ธรรมดา อารมณ์ให้หาว่าบทความที่ให้มามี flaw ของการให้เหตุผลยังไงบ้าง เช่นเดียวกับ IR เอาพอผ่านไม่น่าเกลียด จำ pattern ไป พิมพ์รอไว้เลย section 3 และ 4 ฝึก 1 อาทิตย์ก่อนสอบยังทัน

Adaptive Test & Time Management ส่วนผสมที่ลงตัวของความยาก Here Here

มาถึงสิ่งที่ทำให้ GMAT ยากที่สุด (นี่เมิงยังยากไม่พอ) คือความเป็น Adaptive Test นั่นก็คือ ตอนแรก GMAT จะโยนข้อยากกลางๆมาก่อน ถ้าตอบถูก ข้อสอบก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ แปรผันตรงกับเวลาที่เราจะใช้ในการแก้โจทย์แต่ละข้อ อันนี้จะมาถึงจุดตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่คือ จะทำต่อจนได้คำตอบ หรือ จะมั่วและข้ามไปทำข้อต่อไป เนื่องจาก GMAT เป็นข้อสอบที่วัด Time Management หรือการจัดการเวลา ถ้าข้อสอบไม่หมด penalty จะสูงมาก คะแนนจะหดมากกว่าทำข้อสอบแล้วผิด แต่ถ้าผิดต่อเนื่องกันมากๆ คะแนนก็จะ step down ลงเหวไปเลย

ระดับสติปัญญาที่เทียบกับ MBA candidate ทั้งโลก

การสอบ GMAT เหมือนเป็นการวัดระดับสติปัญญา (aka. โชว์ความโง่) เมื่อเทียบกับคนทั้งโลก เพราะคะแนนจะให้แบบอิงกลุ่ม (อารมณ์เรียนมหาลัยแล้วอาจารย์ตัดอิงกลุ่ม) แต่ละ section อยู่ percentile ที่เท่าไหร่เอาให้เห็นกันจะๆไปเลย เรื่องมันมีอยู่ว่า มีกลุ่มคนไม่ใหญ่มาก ราว 2 พันล้านคน ที่อาจจะกล่าวได้ว่าได้แดร๊กเครื่องคิดเลขเข้าไปแล้ว #ขออนุญาตหยาบคาย นั่นคือชาวจีนกับอินเดียที่เป็นผู้ถีบทะลุคะแนนในส่วน Quantitative ขึ้นมาสุดเสียดฟ้า อารมณ์ได้เกือบเต็มแม่งยังอยู่ percentile ที่ 70 กว่าๆ (เพราะพวกมันเต็มกันทั้งประเทศ) เลยต้องมาปั่นคะแนนเอาที่ verbal แทน ซึ่งอินเดียที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการก็ได้เปรียบกว่าเราชาวไทยเยอะ #ขอปาดน้ำตา

คะแนนจะอยู่ในช่วง 200-800 โดยประกอบขึ้นจาก Quantitative และ Verbal มาชนกัน ตามตารางข้างล่าง เช่น ถ้าได้ Quantitative (Q) 47 คะแนน (percentile ที่ 77) และ Verbal (V) 34 คะแนน (percentile ที่ 68) ก็จะได้ประมาณ 670 เป็นคะแนนรวม

Source: http://gmathints.com/gmat-info/gmatscores

6 เดือนกับการล้มลุกคลุกคลานฟันฝ่า GMAT

ข้อจำกัดของฉัน หลักๆมีอยู่ 2 อย่าง คือ ทุนน้อย และ งานหนัก(บางทีต้องทำเสาร์อาทิตย์) ฉันเลยเลือกที่จะซื้อหนังสือมาอ่านเองผสมกับลงเรียนคอร์สออนไลน์ของ Magoosh ซึ่งส่วนตัวคิดว่าดีใช้ได้เลย ข้อดีคือ อธิบายละเอียดและมีข้อสอบแบบออนไลน์ให้ลองทำ ข้อเสียคือ เวลาสงสัยแล้วส่งคำถามไปมักจะได้คำตอบมาไม่เคลียร์เท่าไหร่ ต้องหาเพิ่ม ถ้าใครสนใจตามลิงค์นี้ไปเลย Magoosh  ฉันสอยมาที่ราคาปีละ $100 เท่านั้น เทียบกับคอร์สแบบ classroom อันนั้นคอร์สละหลายหมื่น คิดแล้วก็เก็บเงินไว้เป็นค่าสอบ GMAT แล้วกัน

ฉันเริ่มอ่านหนังสือจริงจังต้นเดือนสิงหา โดยสมัครสอบไว้ที่ปลายเดือนตุลา และลางานก่อนสอบไว้เรียบร้อย 1 อาทิตย์ จากนั้นก็ลุยแหลกโดยเรียนทฤษฎีใน Magoosh จบใน 1 เดือน จากนั้นก็ตะลุยทำข้อสอบ รวมๆแล้วเป็นพันๆข้อ แป๊บเดียวก็ถึงวันสอบจริง ได้คะแนนรวมออกมา 660 (Q47, V34) ซึ่งถ้าใครหวังจะเข้า top U จริงๆจะรู้ว่าคะแนนแค่นี้ไม่พอ ต้องมี 700 up เท่านั้น เดินถือคะแนนออกมาจากห้องสอบด้วยความหนักอึ้งในหัวใจ (ตอนนั้นเหมือนหมดหวังที่จะไปมหาลัยดีๆจริงๆ) แวะร้านกาแฟ ต่อเน็ต สมัครสอบใหม่ในอีก 3 เดือน และบอกตัวเองว่า ฉันจะไม่เสียเงินเกือบหมื่นสอบอีกรอบแล้ว ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย

The LAST GMAT

แขวนไว้เตือนใจตัวเองตลอดเวลา

เดือนพฤศจิกายนทั้งเดือนหายไปด้วยการพาแม่เที่ยวและทำงาน รู้สึกตัวอีกทีก็กลางธันวาแล้ว แถมลายาวช่วงก่อนสอบไม่ได้อีกตั้งหาก ฉันเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์จุดผิดพลาดในการสอบครั้งแรกและก็ได้ประจักษ์แก่ใจว่า GMAT ไม่ใช่ข้อสอบที่เอาชนะได้ด้วยความพยายามอย่างเดียว ฉันไม่ได้หมายถึงว่าไม่ต้องมีความพยายาม แต่มันต้องมีสิ่งอื่นประกอบด้วย นั่นคือ Plan & Strategy หรือการวางแผนและกลยุทธ์ของการอ่านหนังสือ

– ทำสรุปวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อย

สิ่งที่ผิดพลาดที่สุดของฉันในการสอบครั้งแรกคือ ตะกละตะกลามทำข้อสอบเข้าไป เหมือนครั้งเรียนมหาลัยที่อ่านๆอย่างเดียวเดี๋ยวก็สอบได้ ไม่เคยหยุดวิเคราะห์ว่าเราชอบผิดข้อแบบไหน ทำไมถึงผิด ข้อไหนที่คิดนาน ข้อไหนที่ชอบถูกหลอก อย่ากระนั้นเลย ฉันเลยจัดการ review ข้อที่ผิดจากข้อสอบพันๆข้อที่ทำมาทั้งหมด ทุกแหล่ง จัดทำสรุปทุก section ทุก part แบ่ง topic ชัดเจน เข้าไปหาคำตอบในเว็บไซต์ https://gmatclub.com/ (กว่าจะได้ขนาดนี้ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในเว็บนี้แหละ) อ่านทวนเป็นสิบๆรอบ ทำแล้วทำอีกจนจำได้


– ทำ List ของสิ่งที่ต้องทำ

ในการสอบครั้งแรก ฉันถึงขนาดไม่มี list ว่าจะอ่านอะไรให้จบ เดี๋ยวไปโหลดโน่น เจอนี่ สลับไปอ่านอันนั้นอันนี้ ขอให้ได้ทำข้อสอบเยอะๆไว้ก่อน คราวนี้เลยคัดเฉพาะสิ่งที่ต้องทำจริงๆ เทียบกับเวลาที่มี โดยเน้นทำและ review ข้อสอบจาก Official Guide (OG) และทำ Pretest


– ทำตารางอ่านหนังสือและ track ทุกวัน

ต่อเนื่องจากข้อเมื่อกี้ ตอนสอบครั้งแรก ไม่เคยบังคับตัวเองได้เลย บางทีเหนื่อยๆจากงานไม่อยากอ่านก็นอนเลย หรือบางทีต้องไปสังสรรค์กับเจ้านาย/ลูกค้าก็ไปเลย กลับมาเมาหลับ ไม่มีการ track progress การอ่านหนังสืออะไรทั้งสิ้น สุดท้ายก็เหมือนไร้ทิศทาง ไม่พร้อมสอบ มาคราวนี้บังคับตัวเองไว้ว่าจะอ่านให้ได้ 2-3 ชั่วโมง/วันธรรมดา 12 ชั่วโมง/วันเสาร์อาทิตย์ วันไหนรู้ว่างานหนักหรือต้องไปสังสรรค์ให้ตื่นตีห้ามาอ่าน ถ้าศุกร์ไหนต้องกินเหล้าจะต้องไม่กินจนวันรุ่งขึ้นแฮงค์เพราะต้องเริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่แปดโมง ถ้าใครทำงานไปด้วย ระเบียบวินัยก็จะสำคัญมากๆในการอ่าน GMAT ค่ะ


– ทำตัวให้ชินกับ ‘การสอบ’ GMAT

เน้นที่ ‘การสอบ’ ไม่ใช่ ‘ข้อสอบ’ นั่นคือการลองทำข้อสอบเสมือนจริง ทำตัวให้ชินกับการเจอข้อสอบยากขึ้นเรื่อยๆเมื่อทำถูก สลับหัวเวลาเจอข้อสอบสลับแนวไปมา (PS/DS, RC/CR/SC) บริหารจัดการเวลา อดทนกับสี่ชั่วโมงที่โคตรจะกดดัน นอกจากที่ Pretest ที่แจกฟรี 2 test แล้ว ฉันลงทุนไปอีก 1,500 บาท ซื้อมาลองอีก 2 test จดสถิติทุกอย่างไว้

ตารางสถิติคะแนน

วิเคราะห์ข้อผิดของแต่ละเทส

– ทำการใหญ่ ใจต้องนิ่ง

ทริคข้อสุดท้ายคือวันสอบ ทำใจให้สบาย ไหว้พระ อย่ากดดันตัวเองมากไป ครั้งแรกขอบอกว่ามือสั่นตลอดเวลา 4 ชั่วโมงแทบรับความกดดันไม่ไหว ครั้งที่สองนี่ยังมีเหงื่อออกมือ หัวใจเต้นแรงเล็กน้อยแต่ไม่ได้หนักเท่าครั้งแรก คิดว่าถ้าไม่ได้จริงๆก็ต้องสอบอีกรอบ (ไหนแกบอก last GMAT ไง) ให้กำลังใจตัวเองเยอะๆ

กินมาม่าเคล้าน้ำตามานาน ทรมานมาเยอะ ก็จบได้ที่คะแนน 720 (Q49, V39) เอาจริงๆคือไม่ได้เยอะเว่อร์ขนาดเข้ายูไหนยังไงก็ติด (มันมีองค์ประกอบอีกหลายอย่าง) แต่ก็เยอะพอที่จะลุ้นแล้วล่ะ ส่งกำลังใจมาเยอะๆนะปีนี้ นู๋ต้องการอย่างแรง

ด่านถัดไป เจอน้ำพริกถ้วยเก่า TOEFL

แอบเอา video ที่เคยไปเล่าประสบการณ์การสอบ GMAT มาแปะ เผื่อเปิดฟังเล่นๆค่ะ (คลิกดูที่ภาพได้เลย)

Part I

Part II

12 comments

  1. โหดฝุดๆ เก่งสุดยอดเลย

    • ขอบคุณค่าาาาา แต่ก็กว่าจะได้ก็ท้อหลายล้านรอบอยู่ 5555

  2. พี่เจนเก่งมากกกกกกเลยยย ทั้งเก่งและขยันนนน ไอดอลฝุดดด ><"

  3. มีแนวทางสอบ GRE บ้างมั๊ยคะ
    ตอนนี้มืดมนมาก Toefl คะแนนก็ยังไม่ดีเลย

    • ไม่มีเลยค่ะ เคยแต่สอบ GMAT นี่แหละ สู้ๆนะคะ เรื่อง TOEFL ก็ด้วย

  4. Unnika Reungkasikorn

    สวัสดีค่าพี่เจน หนูเคยเจอพี่ครั้งนึงในงานแนะนำเรียนต่อของ Mission to Top U (P’Jess) 🙂
    อยากขอปรึกษาหน่อยค่ะ คือเสียตังค่าเรียนติว GMAT ไปเยอะมากแล้ว แต่คะแนนยังไม่ดีขึ้น
    เลยสนใจตัว Magoosh เพราะปัญหาทุกวันนีไม่รู้ว่ามันผิดที่จุดไหน
    เหมือนแบบว่า เจอโจทย์แล้วทำผิด พอกลับมาอ่านทวนอีกรอบก็ยังไม่เข้าใจว่ามันผิดจุดไหน เลยคิดว่า ถ้ามีคนชี้จุดให้ เราอาจจะจำข้อผิดพลาดนั้นได้ และเริ่มปรับไปเองรึป่าวคะ

    ปัญหาหนูอยู่ที่ RC + SC ซะเป็นส่วนใหญ่ อันนี้ Magoosh ช่วยได้มากน้อยแค่ไหนคะ
    ส่วน Quantitive อันนี้ไปลงเรียนพื้นฐานมาแล้ว ก็พอเข้าใจได้บ้าง แต่พวก Probability, Permutation ยังไม่เข้าใจค่ะ
    ถ้าซื้อคอร์สของ Magoosh มา พี่คิดว่ามันพอช่วยในจุดนี้ได้มากน้อยแค่ไหน แบบพวกเลขเค้าจะไกด์ให้เราไหมว่า ควรคิดแบบนี้ และทำไมถึงคิดแบบนี้ประมาณนี้น่ะค่ะ

    ช่วงแนะนำหนูหน่อยย ไม่อยากเสียเงินไปเรียน GMAT อีกแล้ว และไม่อยากเสียเวลาไปทุ่มเทกับมันนานด้วย เพราะพวก Essay อย่างอื่นก็ต้องเตรียมค่ะ

    รบกวนหน่อยนะคะ

    ขอบคุณค่า

    • คิดว่าถ้า case นี้ Magoosh อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดค่ะเพราะส่วนใหญ่แน่นแค่ทฤษฎี อาจจะต้องหาคนสอนตัวต่อตัวหรือเข้าไปหาอ่านใน gmatclub เอาสำหรับข้อที่ผิดค่ะ

  5. พี่เจนคะ รบกวนแนะนำ ลำดับหนังสือที่ต้องอ่านหน่อยได้ไหมคะ เช่น ทฤษฏีต้อง2เล่มนี้ให้ครบ และเริ่มทำแบบฝึกหัดจากในหนังสือแยกpart จากในนี้ แล้วค่อยลองข้อสอบวนในอีกเล่ม ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มอ่านจากไหนเลยค่ะ

  6. พี่เจนคะ ขอบคุณสำหรับ sharing ดีๆ นะคะ มีประโยชน์และ inspirational มากๆ:)

    อยากจะรบกวนให้พี่เจนช่วยแนะนำอีกนิดนึง อยากทราบลำดับหนังสือที่ต้องอ่านหน่อยได้เปล่าคะ เช่น ทฤษฏีต้อง2เล่ม…นี้ให้แน่น และหลังจากนั้นค่อยเริ่มทำแบบฝึกหัดแบ่งpart จากเล่ม… แล้วค่อยลองทำข้อสอบจริงวนในอีกเล่ม…. ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มอ่านอะไรจากไหนเลยอ่ะค่ะ

    ขอบคุณล่วงหน้านะคะ 🙂

  7. ขอบคุณมากค่ะ

  8. สอบถามหน่อยได้ไหมครับ
    ว่าทำอย่างไร verbal ตอนแรกจาก 28 ขึ้นมา 35, ถึง 40 ได้เลยเหรอครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*